สถาบันมะเร็งญี่ปุ่น จัดอันดับ “มันเทศ” เป็นพืชต้านมะเร็ง ต้องกินยังไงไม่ให้เกิดโทษ

ในประเทศไทย มี “อาหารต้านมะเร็งที่ทรงพลังที่สุด” วางขายทั่วไปตามตลาด ราคาไม่แพง

ล่าสุด ในรายการ “สุขภาพและชีวิต” ของไต้หวัน นายแพทย์หลิว ป๋อเหริน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและโภชนาการชาวไต้หวัน เผยว่า สถาบันวิจัยป้องกันโรคมะเร็งแห่งชาติของญี่ปุ่นเคยจัดอันดับประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งของผักและธัญพืชทั่วไป 18 ชนิด โดย 10 อันดับแรกที่ต้านมะเร็งได้ดี ได้แก่ มันเทศต้ม, มันเทศสด, หน่อไม้ฝรั่ง, บรอกโคลี, กะหล่ำปลี, กะหล่ำดอก, ขึ้นฉ่าย, เปลือกมะเขือม่วง, พริกหวาน และแครอท

แพทย์หลิวยังเผยว่า มันเทศมีวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และสารพิเศษที่ชื่อว่า DHEA (dehydroepiandrosterone) ซึ่งในผู้ชายจะเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศชาย ส่วนในผู้หญิงจะเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจน โดยในปริมาณน้อย DHEA เคยถูกทดลองว่าอาจช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

เขายังกล่าวอีกว่า ในมันเทศมีสาร แกงกิโลไซด์ (ganglioside) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายตามวงจร

อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำว่าควรกินมันเทศในปริมาณพอเหมาะ โดยเล่าว่ามีผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูกคนหนึ่งที่เข้าใจว่ามันเทศช่วยล้างพิษ จึงกินถึงวันละ 3 หัวควบคู่กับข้าวขาวตามปกติ หลังผ่านไปครึ่งปี ค่าทริกลีเซอไรด์พุ่งสูง และพบไขมันพอกตับ

แพทย์หลิวแนะนำว่า มันเทศเป็นอาหารที่มีแป้งสูง หากกินมากเกินไปจะทำให้พลังงานสะสมเกิน ควรลดปริมาณแป้งจากอาหารอื่นหากต้องการบริโภคมันเทศ

ด้านนักโภชนาการชาวไต้หวัน จางอวี้ซี แนะนำเพิ่มเติมในโพสต์ส่วนตัวว่า ควรกินมันเทศแบบเย็น เพราะเมื่อเย็นลงจะเกิดแป้งทนการย่อย (Resistant Starch) ซึ่งช่วยลดปริมาณแคลอรีลงครึ่งหนึ่ง ทำให้อิ่มนาน และยังช่วยลดน้ำหนัก

คนชอบ “มันหวาน” ต้องอ่าน! เตือน 5 ข้อห้ามที่ควรรู้ กินผิดชีวิตเปลี่ยน สุขภาพพัง

มันเทศ

ประโยชน์อื่น ๆ ของมันเทศต่อสุขภาพ

ตามเว็บไซต์ Healthline มันเทศถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และแมงกานีส ซึ่งนอกจากช่วยต้านมะเร็งแล้ว ยังดีต่อระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวม

  • ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ มันเทศมีใยอาหารทั้งแบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยได้ จึงอยู่ในทางเดินอาหารและส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้ ช่วยเพิ่มกากใยในระบบย่อยอาหาร บางชนิดสามารถหมักโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ให้กลายเป็นกรดไขมันสายสั้น ซึ่งบำรุงเซลล์ในลำไส้

  • บำรุงสายตา มันเทศอุดมด้วยเบต้าแคโรทีน สารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายแปลงเป็นวิตามินเอ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเซลล์รับแสงในดวงตา

  • เสริมการทำงานของสมอง งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า แอนโทไซยานินในมันเทศม่วงอาจช่วยลดการอักเสบในสมอง และลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ อีกทั้งอาจช่วยพัฒนาความจำ

นอกจากนี้ มันเทศยังช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากรับประทานไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์และส่งผลต่อสุขภาพได้ นี่คือข้อห้ามในการรับประทานมันเทศที่หลายคนอาจไม่ทราบ

5 ข้อควรระวังเมื่อกินมันเทศ

  • ห้ามกินมันเทศตอนท้องว่าง การกินมันเทศตอนท้องว่างอาจทำให้ระบบย่อยอาหารมีปัญหา เพราะมันเทศจะกระตุ้นการผลิตกรดในกระเพาะมากเกินไป ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกและอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เพื่อปกป้องสุขภาพ ควรกินมันเทศหลังมื้ออาหารหลักหรือทานร่วมกับอาหารที่มีเส้นใยสูง
  • ห้ามกินมันเทศดิบ การบริโภคมันเทศดิบอาจทำให้เกิดปัญหาการย่อยอาหารได้ เนื่องจากมีแป้งที่ย่อยยาก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปัญหาในลำไส้ นอกจากนี้ มันเทศดิบยังมีสารยับยั้งเอนไซม์ทริปซิน ซึ่งลดการดูดซึมโปรตีนของร่างกายและส่งผลต่อการซ่อมแซมเซลล์ จึงไม่แนะนำให้รับประทานมันเทศดิบเป็นประจำและในปริมาณมาก
  • ห้ามกินมันเทศมากเกินไป แม้มันเทศจะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่การกินมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาการย่อยอาหารได้ เพราะร่างกายจะต้องผลิตเอนไซม์จำนวนมากเพื่อย่อยแป้งในมันเทศ กระบวนการนี้จะใช้พลังงานมากและสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดอาการท้องอืด เรอ และท้องเฟ้อ นอกจากนี้ มันเทศยังมีใยอาหารที่ไม่ละลายในน้ำ ซึ่งหากทานมากเกินไปอาจระคายเคืองลำไส้และทำให้เกิดอาการท้องผูก
  • หลีกเลี่ยงการทอดหรือเติมน้ำตาล แม้มันเทศจะมีประโยชน์ แต่ควรปรุงอย่างเหมาะสมเพื่อคงคุณค่าทางโภชนาการ การต้มและนึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการปรุงแบบทอด หรือเติมน้ำตาลมากเกินไป เพราะนอกจากจะลดคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังทำให้ได้รับแคลอรีเกิน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • ห้ามกินมันเทศที่มีจุดสีดำ จุดสีดำบนมันเทศเป็นสัญญาณเตือนถึงแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างสารพิษที่อาจทำลายตับและอวัยวะภายในอื่นๆ สารพิษเหล่านี้ค่อนข้างเสถียรและไม่ถูกทำลายง่ายๆ ด้วยความร้อน ดังนั้น การรับประทานมันเทศที่ปนเปื้อนอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพรุนแรง เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงมันเทศที่มีจุดหรือรอยช้ำ และเลือกมันเทศที่สดและไม่เสีย