24 ก.ย. 67 เปิดระบบให้เช็กสิทธิได้แล้ว “คนพิการ-ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ตรวจสอบสิทธิ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เช็กวันรับเงิน 10,000 บาท
วันที่ 24 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดระบบให้ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) จำนวน 14.5 ล้านคน สามารถเข้าไปตรวจสอบสิทธิและผลการได้รับเงิน 10,000 บาท ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายสำคัญที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก โดยกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง จะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
5 ช่องทางตรวจสอบสิทธิ ผลการรับเงิน 10,000 บาท
สำหรับช่องทางหลักในการตรวจสอบสิทธิและผลการได้รับเงินในโครงการ โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ดังนี้
1. เว็บไซต์ https://โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ2567.cgd.go.th
2. เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th
3. เว็บไซต์ https://govwelfare.dep.go.th/check (เฉพาะคนพิการ)
4. แอปพลิเคชัน “รัฐจ่าย” (โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง)
5. ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทร 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง
เงื่อนไขการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry)
ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
รอบจ่ายซ้ำ ครั้งที่ 1
- จ่ายเงินภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 เงื่อนไข : ทำบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 แล้ว ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2567
รอบจ่ายซ้ำ ครั้งที่ 2
- จ่ายเงินภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เงื่อนไข : ทำบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 แล้ว ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567
รอบจ่ายซ้ำ ครั้งที่ 3
- จ่ายเงินภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เงื่อนไข : ทำบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 แล้ว ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2567
Beta feature