หมอเตือน “เข้านอนหลังเที่ยงคืน” อันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงอ้วน เครียด สมองล้า สุขภาพพังไม่รู้ตัว!
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนการนอนหลับหลังเที่ยงคืนเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ทั้งเพิ่มความเสี่ยงน้ำหนักขึ้น ภาวะเครียด และการทำงานของสมองที่ลดลง
ดร.ซอราฟ เซธิ (Dr. Saurabh Sethi) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบอันตรายจากการนอนหลับหลังเที่ยงคืน โดยระบุว่า หากคุณเข้านอนหลังเที่ยงคืนเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเวลานอนหลับไม่ถึง 7–9 ชั่วโมงต่อคืน มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาสุขภาพหลายด้าน ผลเสียที่เกิดขึ้นเช่น
-
น้ำหนักขึ้น – การนอนน้อยส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานแย่ลงและกระตุ้นความอยากอาหาร
-
อารมณ์แปรปรวน – นอนน้อยทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุล เพิ่มความเสี่ยงซึมเศร้าและวิตกกังวล
-
ความเครียดสูงขึ้น – ระดับฮอร์โมนความเครียด (คอร์ติซอล) เพิ่มขึ้นจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
-
สมองทำงานช้าลง – การจดจ่อ ความคิดสร้างสรรค์ และการตัดสินใจจะลดลงอย่างชัดเจนในวันถัดไป
ดร.เซธิ ยังแนะนำด้วยว่า หากต้องการดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดีขึ้น ทั้งในด้านสมดุลฮอร์โมน ระบบย่อยอาหาร การทำงานของตับ และสุขภาพจิต ควร “นอนก่อนเที่ยงคืน” และรักษาเวลาเข้านอนให้สม่ำเสมอในทุกวัน
คำแนะนำของ ดร.เซธิ จึงสอดคล้องกับ คำแนะนำจากบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ที่ระบุว่าผู้ใหญ่ควรนอนวันละ 7–9 ชั่วโมง และปฏิบัติตามหลัก “สุขอนามัยการนอน” ดังนี้
-
เข้านอน-ตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน เพื่อให้ร่างกายจดจำจังหวะการนอน
-
สร้างบรรยากาศห้องนอนให้น่านอน ควรมืด เงียบ และอุณหภูมิเย็นสบาย
-
เลี่ยงหน้าจอก่อนนอน เพราะแสงสีฟ้าจากมือถือและทีวีจะรบกวนการผลิตเมลาโทนิน
-
ลดการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนเข้านอน
-
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรทำใกล้เวลานอน
-
ทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ หรืออาบน้ำอุ่น
ท้ายที่สุดแล้ว การนอนหลับให้เพียงพอและตรงเวลาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความง่วง แต่เป็นรากฐานของสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ!
- มีคำตอบแล้ว! วิจัยเผย “คนอายุยืน” มักตื่นนอนตอนไหน ใช่ 6 โมงเช้า แบบที่คิดหรือเปล่า?
- ดีกว่าแก้ผ้า! คำแนะนำจาก “หมอ” แค่สวม 1 สิ่งเข้านอน ช่วยให้หลับได้ดีและ “เร็วขึ้น”