สั่งปิด โรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าดัง รถอ้อยไฟไหม้ตกค้าง 1,200 คัน

ก.อุตฯ สั่งปิด โรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าดัง ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย หวั่นระเบิดกระทบประชาชนใกล้เคียง ทำรถอ้อยไฟไหม้ตกค้าง 1,200 คัน เสียหายกว่า 54 ล้าน

วันที่ 16 ม.ค.2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ “ทีมตรวจการสุดซอย” นำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี บูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด มีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 4.1 หมื่นไร่


ก.อุตฯ สั่งปิด โรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าดัง ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย หวั่นระเบิดกระทบประชาชนใกล้เคียง ทำรถอ้อยไฟไหม้ตกค้าง 1,200 คัน เสียหายกว่า 54 ล้านก.อุตฯ สั่งปิด โรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าดัง ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย หวั่นระเบิดกระทบประชาชนใกล้เคียง ทำรถอ้อยไฟไหม้ตกค้าง 1,200 คัน เสียหายกว่า 54 ล้าน

จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ อีกทั้งยังพบว่าบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี

โดยบริษัทฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน
นอกจากนี้ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น

เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

อีกทั้ง มีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

“ขอย้ำว่าการประกอบการโรงงานต้องมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างกำไรจากการทำธุรกิจอุตสาหกรรมต้องไม่เบียดเบียนสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการทำธุรกิจของภาคส่วนอื่นด้วย” นายเอกนัฏ กล่าว

ต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ภายหลังโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี อ.บ้านผือ กำลังผลิต 35,000 ตันต่อวัน เมื่อได้รับคำสั่งจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้หยุดเดินเครื่องจักรโรงงานน้ำตาล หลังจากรถบรรทุกอ้อยลาน 1 เทอ้อยเข้าโรงงานหมดแล้ว เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ยังมีรถบรรทุกอ้อยไฟไหม้ และอ้อยสด จอดอยู่เต็มลานที่ 2 และ 3 ของโรงงานน้ำตาล นอกจากนี้ ยังมีรถอ้อยจอดอยู่ริมถนนนอกโรงงาน รวมแล้วมากกว่า 1,500 คัน เมื่อรู้เรื่องโรงงานถูกสั่งปิด ทำให้รถบรรทุกบางส่วนขับออกจากโรงงาน เพื่อนำไปส่งยังโรงงานน้ำตาลอื่น

แต่ที่เหลือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ยังปักหลักรอหาทางออก โรงงานได้แจกจ่ายข้าวกล่องให้รถบรรทุกที่เหลือ โดยยังไม่แจ้งมาตการรองรับ

นายอดิศักดิ์ พรรคพล รองเลขาธิการสมาคมฯ และกรรมการควบคุมการผลิต ตัวแทนชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ตนรับแจ้งว่าโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานีถูกปิด จากที่รับหีบอ้อยไฟไหม้เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรการของอุตสาหกรรม

นายอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อปิดไปแล้ว ยังรอมีคำสั่งให้ทำอะไรบ้าง จึงจะสามารถเปิดโรงงานได้อีก ชาวไร่อ้อยทั้งอ้อยไฟไหม้และอ้อยสด จะรอประกาศที่ชัดเจนในวันที่ 16 ม.ค.นี้

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ ที่ยื่นข้อเสนอขอหีบอ้อยไฟไหม้ 1,200 คันที่ตกค้าง จากนั้นจะตัดอ้อยสดเข้าโรงงาน เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี แต่ก็ไม่เป็นผลจนโรงงานมีคำสั่งถูกปิด จะมีการพูดคุยกันในวันพรุ่งนี้

“อ้อยไฟไหม้ตกค้างที่โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี 1,200 คัน มูลค่ามากกว่า 54 ล้านบาท ที่กำลังจะเป็นอ้อยเน่าต้องเททิ้ง ซึ่งเป็นความเสียหายของชาวไร่อ้อย ก็น่าจะทยอยเอาไปเททิ้ง เพราะอ้อยที่ตัดมาเกินกว่า 72 ชั่วโมงแล้ว อ้อยที่เข้ามารอในคิวแรก ๆ น่าจะเน่าไปแล้ว” นายอดิศักดิ์ กล่าว

นายอดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จะต้องรอพรุ่งนี้สมาคมฯจะหาหนทางช่วงชาวไร่อ้อยได้อย่างไร ที่ผ่านมาทุกโรงงานส่งเสริมตัดอ้อยสด โดยโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ส่งเสริมด้วยการส่งอ้อยสด และจัดระเบียนขนอ้อยอีกตันละ 100 บาท แต่ก็ยังไม่ล่อใจชาวไร่พอ