ตำรวจสอบสวนกลาง บุกทลายแหล่งผลิตนมขวดหลากสี-น้ำผลไม้ ไร้เลข อย. ย่านนครปฐม ผงะคนขายกรอกใส่ขวดเองกับมือ ส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีมาตรการเชิงรุกติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยไม่มีมาตฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.) ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนม ยี่ห้อ PON PON ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนพบว่า มีการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนมยี่ห้อดังกล่าวผ่านติ๊กต็อก และเฟซบุ๊ก โดยมีการโฆษณาขายเป็นภาษากัมพูชา และเมื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า มีการนำเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิต และจัดเก็บ
ต่อมาวันที่ 23 เม.ย. 67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นศาลแขวงนครปฐม เข้าทำการตรวจค้น บ้านพักแห่งหนึ่ง ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ตรวจยึดฉลาก ฝาปิด บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยี่ห้อต่างๆ ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสแคนตารูป
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสนมข้าวโพด
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสนมเย็น
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสกาแฟ
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ PON PON รสกาแฟ
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ PON PON รสชานม
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสเผือก
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสนมเย็น
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสข้าวโพด
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสแคนตารูป
- ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสเต้าฮวย
- ผลิตภัณฑ์น้ำส้ม Orange
- ผลิตภัณฑ์ลูกตาลลอยแก้วแม่กิมไน้
การตรวจค้นครั้งนี้พบว่า โรงงานดังกล่าวใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิต โดยไม่มีการสวมถุงมือ เพื่อรักษาความสะอาดแต่อย่างใด และพบว่า โรงงานดังกล่าวอาศัยการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อต่างๆ ตามกระแสตลาด ที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามพื้นที่แถบชายแดนในพื้นที่ จ.จันทบุรี และประเทศกัมพูชา โดยทำมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
- ฐาน “ผลิต และจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
- กรณีการนำเลขสารบบอาหารอื่นมาใช้จะเป็นความผิดฐาน “ผลิต และจำหน่ายอาหารปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ก่อนซื้อควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร(อย.) ว่าได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่
และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา