โปรดเกล้าฯ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงอรอนงค์ ผู้แทนพระองค์ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วัดท่าสะแบง

เมื่อเวลา 09.27 น. วันที่ 10 พ.ย. 67 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงอรอนงค์ ปิยนาฏวชิรพัทธ์ เป็นผู้แทนพระองค์ไปถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้เชิญไปทอดถวายยังที่ชุมนุมสงฆ์ ณ วัดท่าสะแบง อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด

วัดท่าสะแบง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายสร้างขึ้นเมื่อปี 2303 บริเวณป่าต้นตาลของชุมชน เดิมชื่อ”วัดตาล” ปัจจุบัน ที่ดินซึ่งใช้สร้างวัดแปลงดังกล่าวได้ยกให้กับฝ่ายส่งน้ำกรมชลประทานทุ่งแซงบาดาล โดยเป็นที่ทำการของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาปี 2405 ได้จัดตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาและเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดตาลท่าสะแบง” พร้อมกับย้ายที่ตั้งวัดมาอยู่ในพื้นที่กลางบ้านเพื่อให้ชาวบ้านสะดวกต่อการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี 2481และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดท่าสะแบง” ภายในวัดมีเสนาสนะสำคัญ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และวิหาร ปัจจุบัน มีพระครูสุทธิวโรภาส เป็นเจ้าอาวาสวัดและรองเจ้าคณะอำเภอทุ่งเขาหลวง มีพระสงฆ์จำพรรษา จำนวน 14 รูป

ในโอกาสนี้ผู้แทนพระองค์ได้เททองหล่อยอดพระเกศพระพุทธปิยนาฏวชิรพัทธ์ ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันจัดสร้าง เป็นพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ในรูปแบบศิลปะร่วมสมัยโดยจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วิหารวัดท่าสะแบง ในโอกาสนี้ ปลูกต้นพูนทรัพย์ จำนวน 1 ต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ไว้เป็นที่ระลึก

ต่อจากนั้น ผู้แทนพระองค์ ได้เชิญสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่ราษฎรอำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอธวัชบุรี จำนวน 50 คน พร้อมกับมอบกระเป๋านักเรียนและชุดเครื่องเขียนพระราชทานให้กับนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 459 คน ในการนี้ ได้ปล่อยปลาตะเพียนทอง จำนวน 33 ตัว และปล่อยปลาตะเพียน ปลาสวาย และปลาตะเพียนทอง ที่กรมประมงจัดให้ จำนวน 5 0,000 ตัว ลงในแม่น้ำชี เพื่อให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติต่อไป

ในเวลาต่อมาช่วงบ่ายโมง ผู้แทนพระองค์ ได้ไปเยี่ยมชมสวนแม่หนูเพียรโคกหนองนาโมเดล ตำบลอุ่มเม้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสวนที่น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำการเกษตรแบบผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน และเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ดำเนินการในปี 2567 มีมณฑลทหารบกที่ 27 สนับสนุนการดำเนินงานทั้งด้านการเกษตรและปศุสัตว์ บนพื้นที่ 3 งานมีการปลูกพืชผักกว่า 40 ชนิด เน้นการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ผลผลิตนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร มีประชาชน นักเรียนและหัวหน้าส่วนราชการเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการแก้ไขปัญหาสภาพดินเค็มและพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความสุขให้แก่ประชาชนตำบลอุ่มเม้า อำเภอธวัชบุรี เป็นโครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มและน้ำเค็มมีการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำขุดหนองกักเก็บน้ำและกดระดับน้ำเค็มสร้างพื้นที่ป่าด้วยการปลูกป่า 5 ระดับและจัดทำโครงการน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค มีประชาชนได้รับประโยชน์ 9 หมู่บ้าน ด้านการส่งเสริมอาชีพมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอธวัชบุรี เข้ามาส่งเสริมการทำตะกร้าจากเส้นพลาสติก หลักสูตรระยะสั้น 40 ชั่วโมง มีสมาชิกกลุ่ม 11 คน ทั้งยัง มีปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาสอนกระบวนการผลิตเกลือสินเธาว์ซึ่งบ้านฝั่งแดงเป็นพื้นที่ดินเค็มสามารถผลิตเกลือสินเธาว์ไว้บริโภคและจำหน่ายได้

โอกาสนี้ได้ปล่อยปลาบึก จำนวน 33 ตัว และปล่อยปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย และปลาบึก จำนวน 50,000 ตัวลงในแหล่งน้ำโครงการฯ เพื่อให้เป็นแห่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและแหล่งอาหารให้กับชุมชนจากนั้น ไปเยี่ยมพร้อมกับเชิญสิ่งของพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบแก่ประชาชนบ้านฝั่งแดง จำนวน 4 หลัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนการซ่อมบ้านตามโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีมณฑลทหารบกที่ 27 และหน่วยงานเข้าที่เกี่ยวข้องเข้าซ่อมแซมและสร้างบ้านให้กับประชาชนเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง.