2 พ.ย. 2567 นายไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด จ.ตราด ออกคำแถลงการณ์อำเภอเกาะกูด ระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ที่ลงข้อความเกี่ยวข้องกับอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ทับซ้อน การเสียดินแดนและข้อความอื่นๆ ซึ่งอำเภอเกาะกูดได้เคยชี้แจง ผ่านสื่อมวลชนแล้วหลายครั้ง ว่าอำเภอเกาะกูด เป็นดินแดนของประเทศไทยอย่างชัดเจนตามสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.125 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2549 (ค.ศ.1907 )
อำเภอเกาะกูด เป็นอำเภอที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาทางท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน สร้างรายได้ไห้กับ ประเทศไทยนับพันล้านบาท
จึงขอวิงวอนกับกลุ่มผู้รักชาติที่เสนอข่าวเกี่ยวกับเกาะกูดได้พิจารณาให้รอบคอบก่อนนำเสนอ เพราะจะกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวของอำเภอเกาะกูด โดยตรง
ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกาะกูด จ.ตราด เป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการกล่าวหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับไทยต้องเจรจากับกัมพูชา กรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ใต้ทะเล ที่ต้องมีแนวทางจัดการร่วมกัน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีการหยิบประเด็น MOU 2544 ขึ้นมาถกเถียงกันถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของ MOU 2544 ฉบับนี้ เกิดขึ้นในสมัยอดีตนายกทักษิณ เคยทำร่วมกับกัมพูชา แต่ MOU ดังกล่าวยังไม่บรรลุข้อตกลง เนื่องจากมีการยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายกเลิกข้อตกลง
และหากย้อนกลับไปก่อนมีการลงนาม MOU 2544 พบว่า ในปี พ.ศ. 2516 ไทยและกัมพูชา ก็เคยเกิดเหตุข้อพิพาทบริเวณพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว โดยกัมพูชา มีการประกาศอ้างเขตพื้นที่ไหล่ทวีปทะเลเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งวัดจากหลักเขตที่ 73 มีการลากเขตแนวพื้นที่ผ่านเกาะกูดบริเวณทางใต้ ขนานชายฝั่งอ่าวไทย ยาวไปถึงคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา
แต่ทางไทย ไม่ยอมรับ ทำให้ในปี 2517 ไทยต้องมีการลากเส้นเขตแดนใหม่ แม้จะใช้หลักเขตแดนที่ 73 แบบเดียวกับที่กัมพูชาอ้าง แต่เป็นการลากเส้นใหม่ มีการอ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนกว่า 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกับกัมพูชาได้มาจนถึงตอนนี้
ขณะที่ นายเดชาธร จันทร์อบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด ได้ทำหนังสือชี้แจง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชนชาวเกาะกูดและนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยได้มีการโพสต์หนังสือผ่านช่องทางโซเชียลขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด
โดยมีข้อความระบุว่า “ฅนเกาะกูด” ตามที่มีข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเล ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่มูลค่ามหาศาลรวมถึงการจะเสียแผ่นดินบนเกาะกูดนั้น ได้มีนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะกูด ได้เกิดความหวั่นไหว วิตกกังวลกับข่าวดังกล่าว จึงได้โทรมาสอบถามข้าพเจ้าเป็นจำนวนมาก
ข้าพเจ้า นายเดชาธร จันทร์อบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด เป็นลูกชาวเกาะกูดโดยกำเนิด ขอเรียนชี้แจงว่า
1.แผ่นดินเกาะกูดเป็นของประเทศไทย 100% เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด และประเทศไทย มีประชาชนชาวไทยอาศัยทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงปัจจุบัน ไม่มีการเสียแผ่นดินเกาะกูดให้กับทางกัมพูชาแต่อย่างใดทั้งสิ้น ตามที่เป็นข่าว
2. พื้นที่ทับซ้อนในทะเลที่ทรัพยากรธรรมชาติมูลค่ามหาศาล ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเกาะกูด สถานประกอบการ ธุรกิจที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยวเกาะกูด เรื่องนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย ไม่ว่าพรรคไหน หรือฝ่ายไหนที่จะมาเป็นรัฐบาล ที่จะต้องดำเนินการเจรจาผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป
อนึ่ง จากประเด็นดังกล่าว อาจมีผู้นำไปเชื่อมโยงเหตุผลทางการเมืองต่างๆ มีทั้งเรื่องจริงบ้าง เท็จบ้าง ขอให้พี่น้องประชาชนชาวเกาะกูด รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ ช่วยกันตรวจสอบดูแลอย่าให้เหตุการณ์ดังกล่าวมากระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาะกูด รวมถึงการท่องเที่ยวของเกาะกูด เราทุกคนต้องช่วยกันรักษาแผ่นดินเกาะกูด ซึ่งเป็นของประเทศไทยต่อไป “ผมรักเกาะกูด……ครับ”