เคสช็อก เด็กหญิงวัย 16 เดือน ร่างกายเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ และเลือดเปลี่ยนเป็นสีดำ หลังกินซุปที่ปรุงด้วยน้ำบาดาลได้ 1 ชั่วโมง
โรงพยาบาลเด็กประจำนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ได้ออกมาเตือนภัยผู้ปกครอง หลังรับเคสฉุกเฉินของเด็กหญิงวัยเพียง 16 เดือน ที่มีอาการตัวเขียวทั้งร่าง หายใจติดขัด และระดับออกซิเจนในเลือดต่ำผิดปกติ เพียง 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยน้ำจากบ่อบาดาล
ตามรายงานระบุว่า เด็กหญิงรายนี้รับประทานอาหารกลางวันซึ่งประกอบด้วยเนื้อปูทะเลและผักโขม ทั้งหมดถูกนำไปต้มเป็นซุปโดยใช้น้ำจากบ่อในพื้นที่ หลังจากกินไปได้เพียง 1 ชั่วโมง เด็กมีอาการสะดุ้ง ตกใจ ปากเขียว ตัวเขียวซีดทั่วร่าง แต่ไม่มีอาการไอหรือสำลัก ผู้ปกครองรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เมื่อมาถึงเด็กมีอาการร้องไห้ไม่หยุด หายใจลำบาก ตัวเขียวเข้มทั้งตัว และค่าออกซิเจนในเลือด (SpO₂) ลดลงต่ำเหลือเพียง 75%
ทีมแพทย์ตรวจวิเคราะห์เลือด พบว่าเลือดของเด็กมีสีน้ำตาลดำ แม้จะเขย่าหลอดเลือดกว่า 50 ครั้ง ก็ไม่เปลี่ยนกลับเป็นสีแดงตามปกติ แสดงให้เห็นว่าเม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้ตามธรรมชาติ ผลตรวจยืนยันว่าเด็กมีภาวะเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (Methemoglobinemia) ซึ่งไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อได้ ส่งผลให้เกิดอาการเขียวคล้ำทั่วร่างกาย และภาวะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน
การรักษาเริ่มทันทีด้วยการให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ ร่วมกับฉีดยาแก้พิษเมทิลีนบลู และถ่านกัมมันต์เพื่อขับพิษออกจากระบบย่อยอาหาร เพื่อดูดซับสารพิษจากระบบย่อยอาหาร เพียง 10 นาทีหลังให้ยา สีผิวของเด็กเริ่มกลับมาเป็นปกติ และภายใน 30 นาที ค่า SpO₂ ฟื้นกลับมาที่ 95% อาการโดยรวมเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน
- พ่อทรุดร้องไห้โฮ ลูกแค่ 6 ขวบ มะเร็งไตระยะสุดท้าย หมอชี้สาเหตุ “เครื่องดื่ม” ที่มองข้าม!
- แม่ลูกป่วยคู่ ตับ-ไตวายพร้อมกัน หมอรู้ดื่มอะไรเข้าไป เตือนด่วน “สิ่งนี้มีพิษ” อย่าซื้อกิน!
นพ.เหงียน มินห์ เตียน (Nguyễn Minh Tiến) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า สาเหตุของอาการนี้มักมาจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่มีไนเตรต (Nitrate) สูง โดยเฉพาะจากแหล่งน้ำบ่อ หรือน้ำใต้ดินที่ไม่มีการกรองอย่างเหมาะสม เสี่ยงต่อภาวะเลือดเปลี่ยนสีในเด็กเล็ก
ไนเตรตมีคุณสมบัติเป็นสารออกซิไดซ์ ทำให้เม็ดเลือดแดงชนิด Fe²⁺ เปลี่ยนเป็น Fe³⁺ ซึ่งไม่สามารถจับออกซิเจนได้ ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการเขียวคล้ำทั่วร่าง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที นอกจากนี้ ผักบางชนิด เช่น ผักโขม บีทรูท ผักกาด และผักที่มีสีแดงหรือเขียวเข้มบางชนิด อาจมีปริมาณไนเตรตสูง หากนำไปต้มหรือผสมกับน้ำที่ไม่ปลอดภัย แล้วใช้เลี้ยงหรือชงนมให้เด็ก อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดเปลี่ยนสี โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดและทารกที่คลอดก่อนกำหนด
เพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็ก แพทย์แนะนำให้ใช้น้ำประปาที่ผ่านการบำบัดอย่างปลอดภัยในการประกอบอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้น้ำบ่อหรือน้ำใต้ดินที่ไม่ได้รับการกรองหรือตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงผักที่มีปริมาณไนเตรตสูงในการชงนมหรือเตรียมอาหารสำหรับทารก หากพบอาการผิดปกติ เช่น ตัวเขียว หายใจเร็ว ซึม ไม่ดูดนม ควรรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
บทเรียนจากกรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งน้ำและวัตถุดิบในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กที่ระบบร่างกายยังบอบบาง ผู้ปกครองควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการเลือกใช้น้ำและอาหารในชีวิตประจำวัน