ระทึกกลางสถานี! เด็กชายวัย 2 ขวบครึ่ง เกือบเสียชีวิตเพราะ “อาหารติดคอ” ขณะโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน โชคดีได้รับการช่วยเหลือทันใน 7 วินาที จากเจ้าหน้าที่สาวผู้มีทักษะปฐมพยาบาลเฉพาะทาง
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานนี้ ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายที่ 1 เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เวลาประมาณ 20.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่เวรประจำสถานี หวังจื่อฮา (Wang Ziha) กำลังเดินตรวจบริเวณชานชาลา ก็พบเหตุผิดปกติเมื่อเห็นผู้โดยสารรายหนึ่งอุ้มเด็กชายในท่าห้อยศีรษะชี้ลงพื้น และพยายามเขย่าตัวอย่างร้อนรน
เมื่อเข้าไปสอบถาม จึงทราบว่าเด็กชายวัยเพียง 2 ขวบครึ่ง ก่อนหน้านี้ได้ทาน “ถังหูลู่” ผลไม้เสียบไม้เคลือบน้ำตาลแบบจีนแล้วเกิดองุ่นติดคอ เริ่มมีอาการหายใจไม่ออก หน้าแดงจัด และไม่สามารถพูดจาได้ เจ้าหน้าที่หญิงตัดสินใจลงมือช่วยชีวิตทันที
“ส่งเด็กให้ฉัน ใช้วิธี Heimlich!” หวัง จื่อฮา ตะโกน พร้อมรับตัวเด็กจากมือผู้ปกครองอย่างรวดเร็ว จากนั้นเธอใช้วิธีปฐมพยาบาลแบบรัดกระตุกที่ท้องเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ (Heimlich maneuver) Heimlich maneuver โดยโน้มตัวเด็กไปข้างหน้า ใช้มือกดบริเวณท้อง และตบหลังอย่างเป็นจังหวะเพื่อสร้างแรงดันสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ
เพียง 7 วินาทีหลังเริ่มช่วยชีวิต องุ่นชิ้นหนึ่งพร้อมกับน้ำลายก็หลุดออกจากปากเด็ก ทำให้เขาสามารถหายใจและพูดจาได้ตามปกติอีกครั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่หญิงยังได้ใช้ไฟฉายตรวจช่องปากเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเศษอาหารเหลืออยู่ และเด็กปลอดภัยดี นี่ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ ที่ได้ตอกย้ำความสำคัญของการเรียนรู้การปฐมพยาบาล
จากคุณแม่สู่ผู้ช่วยชีวิต….. เจ้าหน้าที่ หวัง จื่อฮา เล่าว่า เธอเองเป็นแม่ของลูกสองคน โดยลูกคนโตมีอายุใกล้เคียงกับเด็กที่เธอช่วยไว้ ด้วยความกังวลเรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ เธอจึงเคยเรียนรู้เทคนิคการช่วยชีวิตเบื้องต้นไว้ล่วงหน้า และถึงแม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้ใช้ทักษะนี้ในสถานการณ์จริง แต่ด้วยการเตรียมตัวที่ดีจึงสามารถรับมือได้อย่างใจเย็นและมีประสิทธิภาพ
ทางด้านพ่อแม่ของเด็กกล่าวถึงนาทีระทึกด้วยน้ำตาคลอ พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้กล้าว่า “ตอนลูกติดคอพวกเราตกใจจนทำอะไรไม่ถูก โชคดีมากที่เจ้าหน้าที่หญิงเข้าช่วยได้รวดเร็ว ไม่เช่นนั้นเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าผู้ปกครองควรเรียนรู้วิธี Heimlich ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคการปฐมพยาบาลที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีเด็กเล็กอยู่ในบ้าน เพราะอุบัติเหตุแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และการช่วยเหลือทันทีในช่วงเวลาสำคัญ สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างชีวิตและความสูญเสียได้อย่างชัดเจน