“ศิริกัญญา ตันสกุล” รีทวีตนายกฯ ถอย VAT 15% จี้ รมว.คลัง แถลงให้ชัด แนวทางปฏิรูปภาษีทั้งระบบ มองรัฐหลังชนฝา ระวังเงินเฟ้อ อัด รมต.อยากดึงคนเก่ง แต่คนในประเทศแบกภาระ เย้ย รัฐบาลโยนหินถามทาง แต่หินทับเท้าตัวเอง
วันที่ 6 ธ.ค. 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ทวีตข้อความผ่าน x โดยได้รีทวีตของนายกรัฐมนตรี ที่ชี้แจงประชาชน เรื่องไม่มีการขึ้น VAT 15% ว่า ถอยแล้ว! แต่แค่เรื่อง VAT 15% เรื่องเดียวตามคาด แล้วเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล กับเงินได้บุคคลธรรมดา จะยังเดินหน้าศึกษาตามแนวทางเดิมอยู่ไหม ถ้าไม่มีรายได้เพิ่มจาก VAT มากขนาดนั้น ภาษีนิติบุคคลคงลดได้ไม่มาก ไม่ถึง 15% แล้ว ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราเดียว ไม่เป็นธรรมกับคนรายได้น้อย-ปานกลางแน่ๆ ภาษีความมั่งคั่ง Capital gains tax มาตรการลดหย่อนเอายังไง ปลัดคลังพูดแตะๆ ไว้หลายเรื่อง คุณพิชัย (นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ตั้งโต๊ะแถลงชัดๆ ถึงแนวทางการปฏิรูปภาษีทั้งระบบซักทีน่าจะดี น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ช่วงเย็น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ปชน. ให้สัมภาษณ์ในรายการเปิดปากกับภาคภูมิ เรื่อง ใครได้-ใครเสีย โครงสร้างภาษีใหม่ VAT 15% ตอนหนึ่ง ว่า รัฐบาลโยนมาแค่ตัวเลข 15-15-15 เราเลยเดาว่า นี่คือการโยนหินถามทาง กระแสเป็นอย่างไร มองว่า เป้าหมาย วัตถุประสงค์หลัก คือการเพิ่มรายได้ เพราะมาถึงจุดที่รัฐบาลหลังชนฝาแล้ว หนี้สาธารณะจะเต็มเพดาน ก็กู้เพิ่มไม่ได้ต้องพยายามเพิ่มรายได้ พอรัฐบาลเข้ามา ยังไม่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเลย ใช้เงินก่อน และใช้มือเติบ ตั้งงบขาดดุลสูงถึง 4.5% ของจีดีพี สูงที่สุดในประวัติการณ์ที่ไทยเคยมีมา มันใกล้จะชนเพดานที่ 70% แล้ว นอกจากนี้ ถ้า VAT จะเพิ่มขึ้น 15% จริง ๆ กระทบประชาชนแน่นอน ในเรื่องราคาสินค้า ขึ้นเร็วสินค้าแพงขึ้น เงินเฟ้อเกิดขึ้นแน่นอน คนที่จ่าย VAT หนักสุดคือคนที่มีรายได้กลางๆ มนุษย์เงินเดือน จะเป็นกลุ่มที่จ่าย VAT สูงที่สุด เงินเดือน 2 หมื่นจ่ายภาษีอ่วม ปีละ 1 เดือน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เชื่อได้ลำบากว่า การไปลดให้คนรวยเพื่อคนรวยจะได้บริโภค พอบริโภคเยอะจะได้กลับมาช่วยคนจน มันเชื่อได้ยากว่า วงจรนี้จะเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อถามว่า ขึ้น VAT จาก 7 เป็น 15% คนชั้นกลางหนักสุดลำบากแน่ๆ แล้ว ถ้าภาษีบุคคลธรรมดา จาก ขั้นบันได มาเป็น 15% เท่ากัน ใครหนักสุด น.ส.ศิริกัญญา ตอบว่า ก็คนชั้นกลางอีกเช่นกัน เราไปนั่งคำนวณมาแล้ว ถ้าเปลี่ยนเป็น 15% อัตราเดียวกันหมด ไม่มีแล้วขั้นบันได นั้นคนที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มคือ คนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 300,000 บาท ต่อเดือน สมมติ เงินเดือน 20,000 – 25,000 บาท ทำงาน 12 เดือน จ่ายภาษี 1 เดือนเลย ถ้าต้องจ่าย 15% ดังนั้นมันหนัก โดยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นแบบนี้ ถ้ามาเจอภาษีบุคคลธรรมดาหักไปเลย 1 เดือน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่
เมื่อถามว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง บอกว่า ส่วนหนึ่งคือ อยากดึงดูดให้คนมาทำงานในไทย น.ส.ศิริกัญญา ตอบว่า อยากดึงดูดคนเก่งคนมีความสามารถ เข้ามาทำงาน แต่กลายเป็นว่า คนที่อยู่ในประเทศอยู่แล้วส่วนใหญ่ต้องมารับภาระนี้ ตนคิดว่า ในเรื่องของมนุษย์เงินเดือน ไม่ต้องไปยุ่ง ไปเตะของเขาแล้ว ให้มันเป็นฐานที่เป็นขั้นบันไดนี่แหละ แต่ขั้นสูงอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้มันสมดุลกับภาษีนิติบุคคล ซึ่ง 15% ของนิติบุคคล ตนก็คิดว่ามันต่ำเกินไป
เมื่อถามถึงเรื่องนายกฯ ทวีตถอยไม่ขึ้น VAT 15% แล้ว น.ส.ศิริกัญญา ตอบว่า ก็นี่แหละ เราคิดว่า เป็นเพราะเขาโยนหินถามทาง แล้วถ้ามีตัวไหนที่จะถอย ก็ต้องถอย VAT เป็นตัวแรก อีกสองตัว มันยังมีเป็นการลด แต่เรื่องที่น่ากังวลคือ เอาเข้าจริง ก็ต้องบอกว่า VAT มันอาจจะถึงเวลาที่เราต้องคิดที่จะต้องเพิ่ม มันจริงๆ จังๆ แต่ถ้าขึ้นเป็น 15% เลยตนมองว่าไม่ควร แต่ไม่ใช่ว่า ไม่ควรเพิ่มเลย ถ้าเพิ่มเป็นสัก 10% แล้วค่อยๆ ทยอยขึ้นปีละ 1% หรือว่า 2 ปี 1% แล้วมีมาตรการมาเยียวยาผลกระทบ ประชาชนรับได้มากกว่า บอกประชาชนด้วยถ้าเก็บภาษีเพิ่มแล้ว เขาจะได้มีสวัสดิการ หรือได้จากโปรเจกต์เพิ่มอะไร แบบนี้ประชาชนก็อาจจะเต็มใจที่จะเสียภาษีมากขึ้น แต่พอวันนี้พูดก็พูดไม่ชัด พอโดนกระแสตีกลับ ก็ถอนกลับทันทีแบบนี้ มันก็เลยทำให้ในอนาคต ถ้าวันหนึ่งเราต้องคิดเรื่องการเพิ่ม VAT จริงๆ เท่ากับว่า รัฐบาลยังไม่ได้เตรียมความพร้อมอะไรให้กับประชาชน ยังไม่มีการสื่อสารเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น เพิ่ม VAT จะดีอย่างไร ใครเสียประโยชน์ได้ประโยชน์ซึ่งไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้เลย ก็เป็นการเสียโอกาสไปเปล่าๆ